0 Ratings

เพิ่มไปรายการที่ชอบ

สำนักพิมพ์ :

ผู้แต่ง :

ราคา

ซื้อฉบับนี้ : 100.00 ฿

เกี่ยวกับ

คำนำผู้เขียน ผู้เขียนมีผลงานบทความลงตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์มติชนรายวันฉบับลงวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๔๙ เรื่อง สถาบันศาลกับปัญหา กกต.ปัญหาของคน ระบบ หรืออะไร ซึ่งได้นำมาลงเป็นบทที่ ๑ ของหนังสือนี้ ปรากฏว่า หลังบทความลงตีพิมพ์ในวันรุ่งขึ้นก็มีการรัฐประหารเกิดขึ้น โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ซึ่งมี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้าคณะ ในวันรัฐประหารดังกล่าว เวลาประมาณ ๑๗ นาฬิกา มีบุคคลนิรนามผู้หนึ่งโทรศัพท์หาผู้เขียนแนะนำตัวเองว่า เป็นนายพลทหารนอกราชการ โดยไม่บอกชื่อเสียงเรียงนามและถามว่าการเขียนบทความของผู้เขียนได้มีการปรึกษาหารือผู้บังคับบัญชาก่อนหรือไม่ ซึ่งผู้เขียนก็บอกไปตามจริงว่า ไม่ได้ปรึกษาหารือใคร เป็นความคิดเห็นส่วนตัวโดยแท้ หลังจากนั้นก็มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับสถานการณ์บ้านเมืองประมาณ ๑๐ กว่านาที โดยผู้เขียนไม่ได้ฉุกคิดหรือระแวงสงสัยอะไร พอตกกลางคืนเห็นข่าวการทำรัฐประหารก็รู้สึกตกใจอยู่ไม่น้อย คิดเล่น ๆในใจว่า ถ้าการรัฐประหารไม่สำเร็จอาจถูกกล่าวหาติดร่างแหกลายเป็นกบฏไปกับเขาด้วย จากสภาพการณ์บ้านเมืองที่วิกฤตหนัก ณ ขณะนั้น ผู้เขียนยอมรับว่าเป็นคนหนึ่งที่คิดว่า การรัฐประหารน่าจะเป็นทางออกที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ เพราะไม่ว่าจะหันไปทางไหนก็ดูเหมือนจะเจอแต่ทางตัน บทความข้างต้นในย่อหน้าสุดท้ายจึงเขียนสื่อเป็นนัยยะทำนองว่าหากไม่มีทางออกกันจริง ๆในฐานะประชาชนคนหนึ่งก็เห็นด้วยที่จะมีการรัฐประหาร โดยจินตนาการของผู้เขียน ณ ตอนนั้นมีมโนทัศน์ในใจว่าหัวหน้าคณะรัฐประหารคงกำลังชั่งใจแบบ ๕๐:๕๐ อยู่ว่าจะทำดีหรือไม่ และเชื่อว่าหากได้อ่านบทความของผู้เขียนก็คงจะตัดสินใจทำ คงไม่มีใครล่วงรู้หรือตอบได้ว่า ถ้าไม่มีรัฐประหารเกิดขึ้นในปี ๒๕๔๙ ประเทศไทยจะเป็นอย่างไร ดีกว่าหรือแย่กว่าในปัจจุบัน แต่ต้องยอมรับความจริงว่า หลังจากเหตุการณ์รัฐประหารครั้งดังกล่าว ได้ก่อให้เกิดความแตกแยกขัดแย้งในสังคมไทยอย่างรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆมีการแบ่งกลุ่มแบ่งสีแบ่งฝ่ายกันอย่างชัดเจน เกิดความเคียดแค้นชิงชังในหมู่ประชาชนอย่างลึกซึ้งกว้างขวางอย่างชนิดที่ไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อน ตราบจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีทีท่าว่าแนวโน้มสถานการณ์จะดีขึ้น ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงรู้สึกเหมือนเป็นตราบาปในใจมาตลอดว่า ตนเองเป็นส่วนหนึ่งที่เป็นต้นเหตุทำให้บ้านเมืองเป็นเช่นนี้หรือไม่ และพยายามไถ่บาปด้วยการเขียนบทความเสนอความคิดความเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาของชาติบ้านเมืองมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยการยึดถือหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นกรอบแนวทางในการวิเคราะห์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลัก นิติศาสตร์แนวพุทธ ที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ได้แสดงปาฐกถาพิเศษไว้เมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๓๙ ณ สำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งถือเป็นองค์ความรู้ที่มีคุณค่าเหลือคณา ในปี ๒๕๕๗ ผู้เขียนได้นำบทความส่วนหนึ่งมารวมเล่มพิมพ์ออกเผยแพร่โดยตั้งชื่อหนังสือว่า วิเคราะห์วาทะธรรมนิติศาสตร์แนวพุทธ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์โพสต์บุ๊กส์ โดยผู้เขียนมีความเชื่อมั่นเต็ม ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ว่า ทางรอดของมนุษย์โลกในอนาคตมีอยู่หนทางเดียวเท่านั้น คือ การเดินตามแนวทางคำสอนของพระพุทธเจ้า เพราะเป็นสัจธรรมความจริงของธรรมชาติที่ไม่อาจโต้แย้งได้ และในบทสุดท้ายผู้เขียนได้เสนอแนวทางการปฏิรูปประเทศไว้ในชื่อบทความเรื่อง ปฏิรูปประเทศไทยตามแนวทางวิถีพุทธ อย่างไรก็ตาม จนถึงบัดนี้ แนวทางข้อเสนอดังกล่าวก็ยังจุดไม่ติด ซึ่งเป็นเรื่องที่พอจะเข้าใจได้ เนื่องจากหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้ามีความละเอียดลึกซึ้งอย่างมากและเป็นการทวนกระแสโลก ขัดแย้งสวนทางกับกิเลสความต้องการของมนุษย์ ไม่สอดคล้องสัมพันธ์กับโลกทุนนิยมเสรีที่มองว่าการส่งเสริมสนับสนุนให้มีการเสพบริโภคมากที่สุดคือการพัฒนาคือความเจริญรุ่งเรือง แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ถึงที่สุดแล้วเมื่อถึงจุด ๆหนึ่งผู้เขียนก็เชื่อว่า สถานการณ์สิ่งแวดล้อมและเหตุปัจจัยต่าง ๆจะบีบบังคับ กดดัน หรือช่วยนำพาจัดการให้มนุษย์หันเหเดินตามรอยพระพุทธองค์อย่างแน่นอน หาไม่แล้วย่อมมิอาจอยู่รอด สำหรับหนังสือ Meritocracy & Freedom of Spirit : ว่ายต่อไป ยังไงก็ถึงฝั่ง เล่มนี้ เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นบทความที่เคยตีพิมพ์เผยแพร่ไปแล้ว โดยทำการปรับแต่งเนื้อหาให้ครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น แต่บางส่วนก็ยังไม่เคยตีพิมพ์เผยแพร่ที่ไหน ทั้งนี้ นอกจากจะมีจุดประสงค์เพื่อเป็นการทำหน้าที่ต่อเพื่อนมนุษย์ซึ่งเป็นสัตว์สังคม ต้องอาศัยพึ่งพากันและกันจึงจะอยู่รอด อีกทั้งการพัฒนามนุษย์ต้องอาศัยมนุษย์ด้วยกันแล้ว ยังเป็นการเสาะแสวงหาปัญญาและฝึกฝนพัฒนาจิตของผู้เขียนเองไปด้วยในตัว เพราะแท้จริงแล้วการทำหน้าที่โดยมีเป้าหมายเพื่อประโยชน์สังคมส่วนรวมกับการทำหน้าที่เพื่อพัฒนาชีวิตให้เจริญงอกงามเป็นเรื่องเดียวกัน เนื้อหาสาระของหนังสือจึงมีทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสังคมส่วนรวมและส่วนที่เกี่ยวกับชีวิตในฐานะปัจเจกบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทที่ ๒๔ และ ๒๕ โดยบทที่ ๒๔ ผู้เขียนคาดหวังไว้ให้เป็นเสมือนแผนที่ภาพรวมกว้าง ๆของทางเดินชีวิตมนุษย์ในการก้าวเดินไปสู่จุดหมายสูงสุด ซึ่งสรุปย่อมาจากหนังสือ พุทธธรรม ของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เพื่อเป็นการจุดประกายสำหรับผู้สนใจในเบื้องต้น เพื่อให้ชัดเจนยิ่งขึ้นสำหรับผู้ศึกษามาบ้างแล้ว และเพื่อเป็นการทบทวนตรวจย้ำความทรงจำสำหรับผู้ที่เคยศึกษามาเป็นอย่างดี ส่วนบทที่ ๒๕ เรื่อง Who am I ? ใครคือผู้รู้ ? ผู้เขียนต้องขอออกตัวไว้ก่อนว่า ไม่ได้เป็นผู้มีความรู้เชี่ยวชาญด้านศาสนาพุทธหรือฝึกปฏิบัติจนรู้ธรรมเห็นธรรมในขั้นสูงอะไร เป็นเพียงผู้สนใจใฝ่ศึกษาธรรมในเบื้องต้นและมีจริตนิสัยชอบคิดวิเคราะห์เท่านั้น หากความคิดความเห็นของผู้เขียนมีข้อผิดพลาดหรือไม่ถูกต้องเหมาะสมประการใดก็ต้องขออภัยเป็นอย่างสูงไว้ ณ ที่นี้ด้วย ผู้เขียนไม่ได้วางตนเองว่าอยู่ในกลุ่มพวกฝ่ายไหน สนับสนุนฝ่ายใด เหตุที่เห็นพ้องด้วยกับแนวทาง ประชาธิปไตย มากกว่า เผด็จการ เนื่องจากเห็นว่า ระบบการเมืองการปกครองที่มีอยู่ในโลกขณะนี้ ต้องถือว่าประชาธิปไตยเป็นระบอบที่มีความสอดคล้องสัมพันธ์กับหลักคำสอนของพระพุทธเจ้ามากที่สุด เพราะมีหลักการพื้นฐานสำคัญที่เอื้อหรือเกื้อหนุนให้มนุษย์ได้อยู่ร่วมกันอย่างสันติและมีโอกาสฝึกฝนพัฒนาชีวิตให้เจริญงอกงามยิ่ง ๆขึ้นไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลัก เสรีภาพ สมภาพ ภราดรภาพ ซึ่งหากประชาธิปไตยได้รับการพัฒนาจนสมบูรณ์แบบ ย่อมนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า ธรรมาธิปไตย ในท้ายที่สุด อย่างไรก็ตาม โดยที่สรรพสิ่งล้วนอยู่ภายใต้ กฎไตรลักษณ์ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มีการเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาไม่เคยหยุดนิ่ง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ตามเหตุปัจจัยแห่ง กฎอิทัปปัจจยตา ไม่มีสิ่งใดเที่ยงแท้ถาวร แม้หากสังคมใดสามารถพัฒนาก้าวหน้าไปสู่ธรรมาธิปไตยได้ แต่เมื่อถึงเวลาหนึ่งย่อมเกิดความเสื่อม แล้วก็จะมีการพยายามแก้ไขปรับปรุงพัฒนาให้ดีขึ้นใหม่ แล้วก็จะเสื่อมอีกเป็นวัฏจักรเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ ไม่รู้จบ แตกต่างจากการฝึกฝนพัฒนาชีวิตในฐานะปัจเจกบุคคล ซึ่งพระพุทธเจ้าบอกว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกหรือศึกษาได้ และถ้ามนุษย์คิดจะฝึกตนแล้วก็จะสามารถพัฒนาได้แทบไม่มีขีดจำกัด โดยเมื่อมนุษย์พัฒนาถึงขีดสุดก็จะมี อิสรภาพ ที่สมบูรณ์แบบ สามารถจัดการแก้ไขปัญหาชีวิตและทุกข์ทั้งปวงได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เที่ยงแท้ถาวร ไม่มีเสื่อม ซึ่งก็คือ การบรรลุมรรคผลนิพพานนั่นเอง แต่ถึงกระนั้น การที่มนุษย์ทั้งหลายจะสามารถพัฒนาตนเองให้บรรลุถึงจุดมุ่งหมายสูงสุดได้ ก็ต้องอาศัยสังคมที่มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อหรือเกื้อหนุนต่อการศึกษาเรียนรู้และฝึกฝนปฏิบัติ เป็นต้นว่า มีความสงบเรียบร้อย มั่นคงปลอดภัย มีวินัยทั้งในแง่ของการปกครองและกฎหมาย ไม่แร้นแค้นขัดสน เจริญรุ่งเรืองในศิลปะวิทยาการ ฯลฯ ด้วยเหตุนี้ Meritocracy กับ Freedom of Spirit จึงเป็นเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์และอิงอาศัยกันและกันอย่างแนบแน่น ท่านพุทธทาสภิกขุมักจะสอนย้ำเตือนอยู่เสมอว่า อย่าอยู่ด้วยความหวัง แต่จงอยู่ด้วยสติปัญญา สติปัญญารู้ว่าควรทำอะไรก็ทำไป ทำให้มันถูกต้องผลมันมาเอง ไม่ต้องหวังให้มันกัดกินหัวใจ หวังเมื่อไหร่มันกัดหัวใจเมื่อนั้น แต่ในฐานะปุถุชนคนธรรมดา หากจะบอกว่าการเขียนหนังสือเล่มนี้ ไม่ได้คิดคาดหวังอะไรเลย ก็คงเป็นเหมือนการหลอกตัวเอง ก็ขอตั้งจิตเจตนาให้สอดคล้องกับเหตุปัจจัยแห่งธรรมของตนว่า หวังเป็นอย่างยิ่งว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผองเพื่อนมนุษย์ผู้ร่วมสังสารวัฏ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ได้บ้างตามสมควรแก่เหตุปัจจัย แต่ก็จะพยายามไม่ยึดติดในผลแห่งความคาดหวังนั้น ไม่มีแม่น้ำ ทะเล หรือมหาสมุทรใดที่ไม่มีฝั่ง หากเราไม่หยุดว่ายสักวันหนึ่งก็ต้องถึงฝั่งอย่างแน่นอน ฉันใดก็ฉันนั้น ไม่ว่าจะเป็น Meritocracy หรือ Freedom of Spirit หากเราไม่หยุดก้าวเดินยังไงก็ต้องถึงจุดหมายปลายทางอย่างแน่นอนเช่นกัน ทุกวิกฤตย่อมมีโอกาส ผู้ใดเห็นทุกข์ผู้นั้นเห็นธรรม เพียรพยายามต่อไป เป็นกำลังใจให้กันและกันต่อไปนะครับ.

รายละเอียด

วันวางขาย :

จำนวนหน้า : 284 หน้า

ประเภทไฟล์ : PDF

ขนาดไฟล์ : 111.08 MB

ประเทศ : TH

ภาษา : Thai

จากผู้แต่ง

กำลังโหลด ...

จากสำนักพิมพ์ โสตถตา

กำลังโหลด ...

ให้ 5 คะแนน

ส่งคะแนน

ส่งรีวิว

popup